วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

การแต่งกายในยุคสมัยต่างๆของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย - ปัจจุบัน


การแต่งกายของคนไทยสมัยสุโขทัย - ปัจจุบัน

            ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะไทย มารยาทไทย ภาษาไทย อาหารไทย และชุดประจำชาติไทย
           สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่า มีความงดงามบ่งบอกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็น "ไทย" ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนในชาติ
           การแต่งกายของไทยโดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์ซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่า 200 ปีนั้น ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ
           นับตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง ยุคเริ่มการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ ยุค "มาลานำไทย" และ จนปัจจุบัน "ยุคแห่งเทคโนโลยีข่าวสาร"
           แต่ละยุคสมัยล้วนมีรูปแบบการแต่งกายที่เป็นของตนเองซึ่งไม่อาจสรุปได้ว่า แบบใดยุคใดจะดีกว่า หรือ ดีที่สุด เพราะวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม ล้วนต้องมีการปรับเปลี่ยนบูรณาการไปตามสิ่งแวดล้อมของสังคมแล้วแต่สมาชิกของสังคมจะคัดสรรสิ่งที่พอเหมาะพอควรสำหรับตน พอควรแก่โอกาส สถานที่และกาลเทศะ

          การแต่งกายของคนไทย โดย นายสมบัติ พลายน้อย 
          
            เรื่องการแต่งกายของคนไทยในสมัยโบราณไม่มีจดหมายเหตุบันทึกไว้เป็นหลักฐาน การเขียนประวัติการแต่งกายตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงขาดหลักฐานที่ชัดเจน ได้แต่ สันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่ทำเป็นรูปเทวดาและมนุษย์ในสมัยนั้นๆ   แล้วคาดว่าการแต่งกายของคนไทยในสมัยดังกล่าวคงจะเป็นเช่นนั้น

           หนังสือสมุดภาพแสดงเครื่องแต่งกายตามสมัยประวัติศาสตร์และ โบราณคดีของกรมศิลปากรได้สรุปลักษณะการแต่งกายของชาวสุโขทัยไว้ดังต่อไปนี้

           "การแต่งกายสตรี ส่วนมากนิยมนุ่งผ้ายาวครึ่งแข้ง รัดกลีบซับซ้อนมากชั้น มีเข็มขัดขนาดใหญ่คาดทับ ประดับด้วยลวดลายละเอียดมาก ทิ้งชายผ้าเป็นกาบขนาดใหญ่ ตรงด้านหน้าหรือยักเยื้องไปทางด้านข้าง บุคคลธรรมดาทั้งชายและหญิงมักนิยมนุ่งผ้ากระโจงเบน หวีผมแสกยาวประบ่า มีผ้ารัดต้นคอ ผู้หญิงธรรมดามีผ้าแถบคาดอก ใส่กำไลข้อมือ รัดแขนและกำไลข้อเท้ากรองคอทำเป็นลายหยักโดยรอบ
          ลักษณะการแต่งกายของผู้ชาย การนุ่งผ้าเท่าที่ปรากฏหลักฐานในตุ๊กตาสังคโลก และภาพลายเส้นบนแผ่นศิลาวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย มักนิยมมีชายพกด้านหน้า ยาวใหญ่ออกมามาก ทรงผมผู้ชายเกล้าสูงเป็นมวยอยู่เหนือศีรษะ มีเครื่องประดับต่างๆ"

          ไม่มีผู้ใดได้บันทึกเอกสารที่กล่าวถึงการแต่งกายสมัยสุโขทัยไว้ จึงจำต้องสันนิษฐานจากรูปปั้นรูปจารึกเท่าที่มีอยู่ ซึ่งอาจไม่ตรงตามความจริงทั้งหมดก็ได้ ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเอกสารทั้งของไทยและของต่างประเทศ  บันทึกว้หลายแห่ง และมีจิตรกรรมเขียนไว้มาก ทำให้หลักฐานเรื่องการแต่งกายสมัยอยุธยาค่อนข้างจะสมบูรณ์

           ตามจดหมายเหตุของเชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บังกล่าวถึงขุนนางไทยว่า "นุ่งผ้าพื้นคลุมตั้งแต่สะเอวลงไปครึ่งน่อง ใส่เสื้อมัสลินแขนสั้น"

          ในจดหมายเหตุของโยส เซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าประสาททอง กล่าวถึงการแต่งกายละเอียดกว่าของเชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง คือกล่าวว่า "ทั้งหญิงชายแต่งตัวด้วยผ้าผ่อนน้อยชิ้น เพราะประเทศนี้เป็นประเทศร้อน เขาชอบผ้าสีต่างๆ นุ่งสำหรับส่วนล่างของร่างกาย ส่วนบนนั้นชายใส่เสื้อชั้นในแขนครึ่งท่อน ส่วนหญิงนั้นมีผ้าบางๆ พาดไหล่หรือปิดหน้าอก บนศีรษะมักจะมีปิ่นทองปักผมไว้และสวมแหวนทองที่นิ้วมือ การแต่งกายเช่นนี้แต่งด้วยกันทั้งคนจนคนมี จึงยากที่จะดูว่าใครรวยใครจน นอกจากจะรู้ราคาชนิดผ้าที่นุ่งห่มนั้น" (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๖ และ ๘๐)
          ในบรรดาชาวต่างประเทศที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึก  ถึงเรื่องการแต่งกายของคนไทยไว้มากกว่าคนอื่นๆ ดังปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ (ฉบับสันต์โกมลบุตรแปล) ต่อไปนี้

          "ลางครั้งที่ไม่ใช้ผ้าลายเขียนนุ่ง ก็ใช้ชิ้นผ้าไหมเกลี้ยงๆ บ้าง หรือทอที่ริมเป็นลายทองลายเงินบ้าง

          ฝ่ายพวกอำมาตย์หรือขุนนางนั้นนอกจากนุ่งผ้าแล้ว ยังสวมเสื้อครุยผ้ามัสลินอีกตัวหนึ่ง ใช้เหมือนเสื้อชั้นนอกหรือเสื้อคลุม (ถึงเข่า) เขาจะเปลื้องมันออก แล้วม้วนพันเข้าไว้กับบั้นเอว เมื่อเข้าไปหาขุนนางผู้ใหญ่ที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่าตน เป็นการแสดงว่าเขาเตรียมพร้อมอยู่เสมอที่ท่านผู้ใหญ่จะบัญชาให้ไปไหนมาไหนได้ดังใจเดี๋ยวนั้น...เสื้อครุยนี้ไม่มีคอเสื้อตั้งขึ้นไปและแหวกเปิดทางด้านหน้า โดยผู้แต่งมิได้สนใจที่จะกระชับชายให้ปรกกัน เพื่อปิดหน้าท้องของตนแต่ประการใด แขนเสื้อนั้นยาวทอดลงมาเกือบถึงข้อมือ กว้างรอบ ๒ ฟุตโดยรอบ ไม่เห็นถกแขนเสื้อตอนต้นแขนหรือปลายแขนอย่างใด อนึ่ง ตัวเสื้อครุยนั้นยังแคบมาก กระทั่งไม่สามารถผ่านลงและคลุมผ้านุ่งให้มิดชิดได้ คงเป็นรอยกลีบซ้อนกันพับอยู่กับบั้นเอวฉะนั้น" 


สมัยสุโขทัย

   ที่ตั้งของอาณาจักรสุโขทัยเจริญขึ้นไปบนดินแดนของ อาณาจักรลพบุรี ลักษณะ การแต่งกายของ ชายหญิง สมัยนี้ จึงปฏิรูปมาจากลพบุรี เป็นส่วนใหญ่ การแต่งกาย ของชาวสุโขทัยในชุดนี้ ดำเนินเรื่อง ตามจารึกหลักที่หนึ่งที่กล่าวว่า

“1214 ศก.ปีมะโรงพ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขะดาร หินตั้งหว่างกลาง ไม้ตาลนี้ วันเดือนดับ เดือนออกแปดวัน ฝูงปู่ครูเถรมหาเถรขึ้นนั่ง เหนือขะดารนี้สวดธรรมแก่อุบาสกฝูง ท่วยจำศีลมิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่ง เหนือขะดารหิน ให้ฝูงทวยลูกเจ้า ลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองกัน วันเดือนดับ เดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือก กระพัดลยาง เทียรย่อม ทองงานซ้ายขวา ชื่อ รูจาศรี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ ไปนบพระอรัญญิกแล้วเข้ามา”
     การแต่งกายสตรีส่วนมากนิยมนุ่งผ้ายาวครึ่งแข้ง รัดกลีบซับซ้อนมากชั้นมีเข็มขัด ขนาดใหญ่คาดทับ ประดับ ด้วย ลวดลายละเอียดมาก ทิ้งชายผ้าเป็นกาบ ขนาดใหญ่ ตรงด้านหน้าหรือยักเยื้องไปทางด้านข้าง บุคคลธรรมดาทั้ง ชายและหญิง มักนิยม นุ่งผ้าโจงกระเบน หวีผมแสกยาวประบ่ามีผ้ารัดต้นคอ ผู้หญิงธรรมดามีผ้าแถบคาดอก ใส่กำไลข้อมือรัดแขน และกำไลข้อเท้ากรองคอทำเป็นสายหยักโดยรอบ


การแต่งกายสมัยสุโขทัย


     การแต่งกายไทยสมัยสุโขทัยจากจดหมายเหตุจีน ทำให้ทราบว่า ราชอาณาจักรไทยนั้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไทยและจีนได้มีการติดต่อกันอย่างเป็นทางการ โดยมีการส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกัน เป็นจำนวนหลายครั้งและมีการแลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการเป็นจำนวนมาก และพระเจ้าหงอู่ก็ได้พระราชทานผ้าไหมหลายม้วนมาถวายกษัตริย์ไทย ในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 1

จากบันทึกและหลักฐานอื่น ๆ ทำให้ทราบว่า สมัยสุโขทัย ผ้าที่มีค่าคือ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้ากำมะหยี่ ผ้าจีวร ผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าขาวแก้ว และรองลงมาคือ ผ้าที่ทอด้วยด้ายหรือฝ้าย มีการย้อมเป็นสีต่าง ๆ เรียกว่า ผ้าห้าสี คงได้แก่ สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว และสีเหลือง เรียกว่า ผ้าเบญจรงค์

อย่างไรก็ดี ถึงคนไทยเราจะทอผ้าได้เอง และปรากฏว่าวัฒนธรรมการทอผ้าของสุโขทัยได้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากชาวสุโขทัยอาจจะซื้อขายแลกเปลี่ยนผ้าไหมกับจีนแล้ว เวลาที่ไทยส่งทูตไปเฝ้าพระจักรพรรดิจีน หรือพระจักรพรรดิจีนส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี ก็มักจะสั่งเครื่องราชบรรณาการมาตอบแทน ซึ่งจะมีผ้าร่วมอยู่ด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นผ้าแพร และจะส่งมาเป็นร้อย ๆ ม้วน แพร่นี้มีหลายชนิด แต่ที่เป็นเครื่องราชบรรณาการมักเป็นแพรหมังตึ้ง (แพรยกดอก)

นอกจากนี้มีการนำผ้ามาตกแต่งบ้านเรือน ทำหมอนนั่ง หมอนนอน ฟูก ธงทิว สัปทน ม่าน ในการทำบุญจะมีผ้าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง โดยถวายเป็นจีวรบ้าง ผ้าสบงบ้าง ผ้าเช็ดหน้าบ้าง ถวายเป็นกองก็มี เป็นผืน ๆ ก็มี และที่น่าสนใจคือ จากจารึกหลักที่ 14 กล่าวถึงการถวายผ้าเบงจตีแก่พระสงฆ์ใช้เป็นอาสนะ ผ้าเบงจตีนี้เป็นผ้าลายจากอินเดียชนิดหนึ่ง นอกจากนี้มีการถวายผ้าแพรสำหรับสอดกากะเยีย เพื่อใช้เป็นที่ตั้งรองพระธรรมคัมภีร์ใบลานในเวลาอ่านหนังสือต่างโต๊ะเล็กในปัจจุบัน หรือนำมาทำผ้าสมุดชายปัก สำหรับรองพระคัมภีร์เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น

วัฒนธรรมในด้านการแต่งกาย
การแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญของชนแต่ละชาติ อาณาจักรสุโขทัยมีความรุ่งเรือง ดังนั้นผู้คนก็ย่อมมีการนุ่งห่ม ตกแต่งร่างกายด้วยผ้าแพรพรรณงดงาม มีวัฒนธรรมการแต่งกายเป็นของตนเอง

การแต่งกายของคนสมัยสุโขทัยนั้น สามารถศึกษาได้จากศิลาจารึก และศิลปะโบราณวัตถุ เช่น ตุ๊กตาสังคโลก ประติมากรรม ภาพปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามโบราณสถาน ภาพลายเส้นทั้งที่ปรากฏอยู่บนรอยพระพุทธบาทกับบนแผ่นศิลาเล่าเรื่องชาดกต่างๆ ซึ่งพบที่วัดศรีชุม ทั้งยังอาจศึกษาได้จากเอกสารหรือจดหมายเหตุของประเทศข้างเคียง และของชาวต่างชาติที่เดินทางมาในระยะเวลาดังกล่าว ที่ได้บันทึกกล่าวถึงไว้ในสมัยนั้นได้อีกด้วย และการแต่งกายนี้สามารถศึกษาถึงรายละเอียดได้ ตั้งแต่ทรงผม ผ้านุ่ง เสื้อ ผ้าห่ม เครื่องประดับ และเครื่องหอม
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket


รูปปูนปั้นจากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เป็นภาพพระพุทธประวัติ
ตอนพระนางสิริมหามายาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ แสดงการแต่งกายของสตรีชั้นสูงสมัยสุโขทัย

การแต่งกายของผู้หญิง : ทรงผมจากการศึกษารูปแบบงานประติมากรรมของสมัยสุโขทัย พบว่า ผู้หญิงสมัยสุโขทัยทำทรงผมหลายแบบ คือไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยอยู่กลางศีรษะ มีพวงดอกไม้หรือพวงมาลัยสวมรอบมวย แบบหนึ่ง หรือไว้ผมแสกกลางรวบผมไว้ท้ายทอย มีเกี้ยวหรือห่วงกลมคล้องตรงที่รวบ แบบหนึ่ง หรือเกล้าเป็นมวยไว้กลางหลังศีรษะเหนือท้ายทอยขึ้นมา ถ้าเป็นสตรีสูงศักดิ์อาจประดับศีรษะด้วยลอมพอก กรอบพักตร์หรือมงกุฎ และการไว้ผมนี้จากหนังสือไตรภูมิพระร่วง และจากหนังสือเรื่องนางนพมาศ จึงเป็นอันว่าผู้หญิงสุโขทัยไว้ผมยาวประบ่าด้วยเช่นกัน ส่วนที่ไว้ผมยาวเกล้ามวยแล้วนิยมตกแต่งด้วยช้องผม และเสียบแซมด้วยช่อดอกไม้ที่เรียกว่า ผกามาศผกาเกสร

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket


ภาพลายเส้นจากวัดศรีชุม แสดงการแต่งกายและการใช้เครื่องประดับของชนชั้นสูง



Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ภาพลายเส้นจากวัดศรีชุม แสดงการแต่งกายของบุรุษสามัญชน สมัยสุโขทัย
เครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้หญิงสมัยสุโขทัย พบว่านุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุงยาวกรอมถึงข้อเท้า ผ้านุ่งทอจากทั้งฝ้าย ไหม มีลวดลายดอกสีต่าง ๆ เช่น ดำ แดง ขาว เหลือง และเขียว ผ้าที่ใช้มีหลายชนิด เป็นต้นว่า สุพรรณพสตร์ ลิจิตพัสตร์ จินะกะพัสตร์ ตะเลงพัสตร์ เทวครี ผ้ารัตครี และเจตครี ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าลักษณะของผ้าแต่ละชนิดนั้นเป็นแบบใด แต่น่าจะเป็นผ้าที่ทอเอง และย้อมสีต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ และมีบางชนิดที่นำมาจากต่างประเทศเช่น จากอินเดีย และจีน การนุ่งผ้าซิ่นนั้นเห็นว่าตรงเอวหรือต่ำจากเอวลงมาเล็กน้อย ประดับด้วยผ้ามีรอยจีบคลุมห้อยปล่อยชายลงมาสองชาย ปิดทับหัวเข็มขัดที่สวยงามไว้ สำหรับสตรีที่สูงศักดิ์ เข็มขัดนี้มักนิยมทำเป็นลายประจำยามมีพวงอุบะห้อยเป็นแนว แต่ถ้าเป็นสามัญชนมีทั้งใช้เข็มขัด และใช้ชายผ้า ตรงเอวผูกมัดกันเอง เป็นแบบเหน็บชายพก สตรีสามัญที่แต่งงานแล้วมักไม่สวมเสื้อแต่มีผ้าพันรัดอก สตรีชั้นสูงและสตรีที่ยังไม่แต่งงานจะสวมเสื้อรัดรูป แขนทรงกระบอกและห่มผ้าสไบ เมื่อไปงานบุญหรืองานพิธี หลักฐานการใช้เสื้อนี้มาปรากฏในหนังสือไตรภูมิพระร่วง นอกจากนี้ยังทราบว่ามีการแต่งตัวหลายแบบด้วยเหมือนกันจากหนังสือนางนพมาศ
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
 Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลก รูปสตรีชั้นสูง นุ่งผ้านุ่งยาว กรอมข้อเท้า ด้านหน้าจีบคล้ายผ้าจีบหน้านาง คาดปั้นเหน่ง ดึงชายผ้ายาวลงมาทับหัวปั้นเหน่ง สวมเสื้อแขนยาว สังวาล มงกุฏ กุณฑล พาหุรัด และกำไลข้อพระกร จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

การแต่งกายของบุรุษ
ทรงผม
 ผู้ชายสมัยสุโขทัย ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์หรือเจ้านาย จะไว้ผมยาวมุ่นมวยไว้กลางศีรษะ มีปิ่นปักหรือใช้ผ้าพันหรือโพก หรือประดับศีรษะด้วยมงกุฎ ที่มียอดแหลมหรือกรอบพักตร์ หรือทำผมแสกกลางรวบผมไว้ตรงท้ายทอย มีห่วงหรือเกี้ยวคล้อง

สำหรับผู้ชายสามัญชนทรงผมมักไว้ผมยาว แสกรวบไว้ที่ท้ายทอย มีห่วงกลม ๆ คล้องตรงที่รวบ หรือไม่ก็ไว้ผมสั้น หรือเกล้าผมเป็นมวยเหนือศีรษะ มีผ้าโพก สำหรับพราหมณ์ หรือนักบวชปกติจะเกล้ามวย ถ้าเป็นเชื้อสายตระกูลพราหมณ์จะมีดอกไม้ทอง ส นอบเกล้า จุฑาทอง ประวิตรทอง ธุรำทองเพิ่มขึ้น และเมื่อจะทำพิธีอันเป็นมงคลจะแต่งผมด้วยการใช้ใบชุมแสง แซมช้อง ผมทัดใบพฤกษ์เวฬู หากประกอบพิธีพรุณศาสตร์จะสยายมวยผมเพื่ออ่านโองการ ถ้าเป็นทหารจะสวมหมวกทรงกลม ด้านหลังหมวกมีชายผ้าจากตัวหมวกห้อยยาวลงไปถึงต้นคอ ซึ่งเรียกว่า หมวกทรงประพาส มีหมวกอีกแบบหนึ่งคือ หมวกชีโบ ที่มีรูปคล้ายฝาชี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กุบ”

ส่วนเด็กนั้นสามารถศึกษาจากตุ๊กตาสังคโลก พบว่ามีการไว้ผมจุกมีปิ่นปักหรือผ้าพัน เด็กเล็ก ๆ โดยทั่วไปคงไม่สวมอะไรเลยแต่ในงานประเพณีหรือฤดูหนาวจะนุ่งห่มคล้ายผู้ใหญ่ แต่เด็กโตมีการแต่งกาย เด็กชายก็คงจะนุ่งโจงกระเบนหรือกางเกง
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

ประติมากรรมสังคโลกรูปสตรีหลังค่อมถือคนทีน้ำ ไว้ผมยาวรวบตึงไปด้านหลัง
เกล้าเป็นมุ่นมวยต่ำเหนือท้ายทอย นุ่งผ้านุ่งที่มีลวดลาย


Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลกรูปช้างพระคชาธาร มีแม่ทัพนั่งบนสัปคับ ด้านหลังมีควาญท้ายช้าง
มีขาช้างทั้งสี่ มีทหารจตุรงคเสนาถือปืนสั้น แม่ทัพโพกผ้าส่วนทหารและควาญตัดผมสั้น
นุ่งผ้าโจง กระเบนสั้น ผูกผ้าคาดเอว สวมเสื้อ


เครื่องนุ่งห่ม
ผู้ชายสุโขทัยสวมเสื้อและมีผ้าคล้องไหล่ เสื้อเป็นเสื้อแขนยาวผ่าอก ผู้ชายชั้นสูงมีผ้าพาดไหล่ ส่วนผ้าโพกศีรษะนั้น ก็มีกล่าวไว้ว่า ผ้าทรงและผ้าโพกก่อนจะใส่มักนิยมอบด้วยของหอม เช่น อบด้วยอายธูป ผ้าโพกนี้คงเป็นผ้าโพกศีรษะนั่นเอง ส่วนเสื้อก็เป็นเสื้อแขนสั้น คอสี่เหลี่ยม เรียกว่าเสื้อยันต์หรือไม่ก็เป็นเสื้อชนิดสวมหัว เข้าใจว่าพวกทหารก็มีเครื่องแต่งกายแบ่งหมู่เหล่าด้วยเหมือนกัน โดยใส่เสื้อและหมวกสีต่าง ๆ
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ประติมากรรมสังคโลกรูปบุรุษแบกครกถือสากอมเมี่ยง
ตัดผมสั้น นุ่งผ้าโจงกระเบน โดยมีชายผ้าด้านหน้าผูกเป็นชายพก

สำหรับผ้านุ่งนั้น ทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมเหมือนของสตรี ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพวกเจ้านายทรงผ้าโจงกระเบนทับสนับเพลา ทั้งบั้นพระองค์หรือเอวมีผ้าจีบประดับทับถ้อยลงมาสองชายแล้วคาดทับด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัดเส้นใหญ่สวยงามแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งนั้น ทรงสวมสนับเพลาขายาวหรือขาสั้นเหนือเข่ามีผ้าคาด ส่วนผ้าพาดไหล่นั้น เวลาใช้จะใช้ชายผ้าทั้งสองชายพาดไปด้านหลังของไหล่แต่ละข้าง ด้านหน้าจึงเห็นผ้าเป็นรูปโค้ง หรือไม่ก็พาดไว้ที่ไหล่ข้างเดียว ผ้าห้อยนี้มีหลายสีดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นสามัญชนและพราหมณ์ จะนุ่งผ้าโจงกระเบนสั้น เหนือเข่า มีผ้าคาดเอว

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

เครื่องประดับสมัยสุโขทัย
เครื่องประดับสมัยสุโขทัย ซึ่งส่วนใหญ่ในระยะแรกนั้น มีลักษณะและรูปแบบคล้ายกับศิลปะลพบุรี แต่ได้มีการปรับปรุงรูปแบบเป็นลักษณะของตนด้วย มีการคิดประดิษฐ์ให้รูปแบบใหม่ทั้งจากที่คิดประดิษฐ์ขึ้นเองและได้รับอิทธิพลจากรูปแบบศิลปกรรมภายนอกที่เข้ามาใหม่ เช่น อิทธิพลจากศิลปะลังกา ซึ่งเข้ามาพร้อมกับการรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เป็นต้น ดังนั้น รูปแบบเครื่องประดับสมัยสุโขทัยจึงมีลักษณะเป็นแบบของตนเอง และเป็นแบบอย่างของเครื่องประดับสมัยอยุธยาในระยะต่อมาด้วย ในสมัยนี้มีการใช้เครื่องประดับทั้งที่ทำด้วยทองคำ ถม เงิน และนิยมประดับด้วยอัญมณี 7 สี มีปัทมราค และ ประพาฬรัตน์ เป็นต้น โดยใช้คำรวม ๆ ว่า “แก้วมณีรัตน์” และ “เครื่องถนิมพิมพาภรณ์” เครื่องประดับที่ปรากฏสำหรับบุคคลชั้นสูง มีศิราภรณ์ ตุ้มหู แหวน สำหรับสตรีชั้นสูง พบว่ามีทองปลายแขนและแหวน นอกจากการแต่งตัวของคนที่มีชีวิตอยู่แล้ว ยังพบว่าในไตรภูมิกถา ก็กล่าวถึงการแต่งตัวให้ผู้ตายด้วย เช่น กล่าวถึงการแต่งตัวศพในอุตรากุรุทวีป ว่าจะอาบน้ำให้ศพและทาด้วยกระแจะแลจวงจันทร์ น้ำมันอันหอม นุ่งห่มผ้า แล้วประดับด้วยๆเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ก่อนนำไปประกอบพิธี
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

รูปแบบของเครื่องประดับ
ศิราภรณ์มีลักษณะคล้ายเทริด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนกระบังหน้า หรือกรอบพักตร์กันส่วนรัดเกล้าที่ประดับผมส่วนบน ตัวกรอบพักตร์มีความกว้างตรงกลางประดับด้วยลายดอกไม้เป็นแนวกว้างขนาด้วยแถวไข่มุก ตัวกะบังหน้ามีแนวตรงและที่ขอบบนเป็นแนวโค้งหยักสูงเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนรอบหน้าผากหยักโค้ง
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
เศียรทวารบาลสังคโลก สมัยสุโขทัย แสดงรูปแบบของมงกุฏ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ส่วนรัดเกล้า มี 3 แบบคือ เป็นทรงกระบอกยอดกลมแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งเป็นทรงกะเปาะ ซ้อนกันขึ้นไป 5 ชั้น ชั้นบนสุดเรียวสูง เหนือขอบบนของกรอบพักตร์มีแผ่นรูปสามเหลี่ยม 3 แผ่น ประดับตรงกลางเหนือหน้าผาก 1 แผ่น และด้านข้างเหนือแนวหูข้างละ 1 แผ่น ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นรัดเกล้าคล้ายวงแหวน หรือกะเปาะเฟืองสั้น ๆ ซ้อนกันขึ้นไป 5 ชั้น

กรองศอมีลักษณะเป็นแถบกว้างโค้งไปตามแนวคอ ตรงกลางแนวกรองศอประดับด้วยลายดอกประจำยามขนาดใหญ่ มีสายต่อกับทับทรวงที่ซ้อนกัน ลายตรงแนวกลางนี้ขนาบด้วยแนวไข่มุก มีหลายลักษณะทั้งแนวกลมมีลายดอกไม้ 3 ดอก ประดับเป็นระยะ ๆ กับที่ตรงกลางเป็นวงเรียบ ขอบสองด้านประดับด้วยแนวหยักหรือเป็นแนวเรียบ แบ่งเป็น 3 แนว แนวกลางประดับด้วยลายไข่มุกขนาดใหญ่ ขนาบด้วยแนวไข่มุกขนาดเล็ก เป็นแนวขอบบนและขอบล่าง และที่เป็นวงแหวน 3 วง เรียงต่อกัน เป็นแผ่นสามเหลี่ยมโค้งคล้ายใบปรือ นอกจากนี้ยังมีห่วงคอเรียบ ๆ ที่มีลายดอกไม้ประดับอยู่ตรงกลางเพียงดอกเดียว

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket
ปั้นลมสังคโลก สมัยสุโขทัยตกแต่งด้วยภาพเทวดาเหาะ พระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์
แสดงเครื่องทรง เช่น ผ้าทรง มงกุฏ พาหุรัด กรองศอ กำไลข้อพระกรและข้อพระบาท
กำไลข้อมือ
กำไลข้อมือมักเป็นแบบเรียบ ๆ ที่สวมหลาย ๆ วง ส่วนใหญ่มี 3 – 4 วง ทำด้วยทองและเงิน

ตุ้มหูตุ้มหูสมัยสุโขทัย ใช้ประดับทั้งบุรุษและสตรี ตุ้มหูเป็นรูปดอกไม้ หรือรูปกลมที่มีก้านเสียบเข้ากับติ่งหูที่เจาะเป็นรูไว้ มีทั้งที่เป็นรูปกลมชิ้นเดียว หรือ 2 – 3 ชิ้นต่อเป็นช่อท้ายลงมา

ปั้นเหน่งเนื่องจากบุรุษและสตรีนุ่งผ้ายาวหรือโจงกระเบนยาวแบบที่อินเดียเรียกว่า โธตี ดังนั้นจึงจับชายผ้าเหน็บที่เอวให้กระชับ แล้วคาดเข็มขัดทับเข็มขัดในสมัยนี้จึงเป็นเส้นเรียบ ๆ มีหัวเข็มขัดเป็นรูปกลมและรูปรี เมื่อรัดแล้วประกอบดูคล้ายกับผูกเชือกรอบเอว

การแต่งกายของเด็กจากประติมากรรมตุ๊กตาสังคโลก พบว่ารูปเด็กไว้ผมจุก มีปิ่นปัก หรือผ้าพัน เด็กเล็กๆ โดยทั่วไปมักไม่นุ่งผ้า เด็กผู้ชายมีพริกเทศห้องกับสายคาดเอว ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงมีจับปิ้งห้อยปิดอวัยวะเพศ เด็กที่โตผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อคอกลมหรือห่มสไบ ถ้าเด็กผู้ชายนุ่งกางเกงหรือโจงกระเบน แต่หากมีงานประเพณีพิธีกรรม เด็กจะแต่งตัวอย่างงดงาม ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและเครื่องประดับตามฐานะ

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket


ประติมากรรมสังคโลกรูปคนอุ้มไก่และถือเงินพดด้วง สมัยสุโขทัย
นุ่งผ้านุ่ง ไม่ใส่เสื้อ ไว้ผมยาวรวบเกล้าเป็นมวยเหนือศีรษะ


Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

ประติมากรรมสังคโลกรูปพ่อแม่ลูกสมัยสุโขทัย นุ่งผ้านุ่งไม่ใส่เสื้อ


เครื่องประทิ่นหรือเครื่องสำอาง
เครื่องประทิ่น
 ของหอมที่ใช้ทั้งบุรุษและสตรี คือ กระแจะ จวงจันทร์ น้ำมันหอม ผัดหน้าและลูบกายด้วยแป้งสารภี สตรีมีการเขียนคิ้ว แต่งเล็บ ไว้เล็บ สตรีใช้น้ำมันงาใส่ผม



รูปภาพการแต่งกายยุคสุโขทัย


               สุโขทัย


            




สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310) 
ราวสมัย พ.ศ. 1893 สมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านปลดกางเกงหรือ สนับเพลาออกบ้างแล้ว คงใช้เฉพาะขุนนางข้าราชสำนัก แบบขัดเขมรจึงถูกปล่อยให้ยาวลงมาถึง ใต้เข่าเป็น “นุ่งโจงกระเบน” เสื้อคอกลมแขนกรอมศอก สตรีนุ่งผ้าและผ้ายกห่มสไบเฉียง สวมเสื้อ บ้างโดยมากเป็นแขนกระบอก 

การแต่งกายของสมัยอยุธยา
มีการเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งมี 3 แบบ ดังนี้
  1. การแต่งกายตามกฎมณเฑียรบาล เป็นแบบของเจ้านาย ข้าราชการชั้น ผู้ใหญ่ ทั้ง ผู้ชายและผู้หญิงตลอดจนพวกมีฐานะจะแต่งตามไปด้วย ผู้หญิงยังมีการเกล้ามวยอยู่
     
  2. การแต่งกายแบบชาวบ้าน (ระยะกลางของสมัยอยุธยา) มีการนุ่งโจงกระเบนทางแถบ เมืองเหนือ ผู้ชายอาจไว้ผมยาว ส่วนทางใต้ลงมาตัดผมสั้น ลง ครั้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการไว้ผมมหาดไทย ผู้หญิงยังคงไว้ผมยาวนิยมห่มสไบ
     
  3. ยุคสงคราม (สมัยอยุธยาตอนปลาย) ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องช่วยกันต่อสู้กับศัตรู ผู้หญิงตัดผมสั้น ลง เพื่อปลอมเป็นผู้ชาย และสะดวกในการหลบหนี เสื้อผ้าอาภรณ์จึงตัดทอน ไม่ให้รุ่มร่าม เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่และเคลื่อนไหว มีการห่มผ้าตะเบงมานคือห่มไขว้กัน บริเวณหน้าอกแล้วรวบไปผูกไว้หลังคอ ส่วนผู้ชายไม่มีการเปลี่ยนแปลง (อภิโชค แซ่โค้ว, 2542: 22)
การแต่งกายยุคกรุงศรีอยุธยา จึงแบ่งออกเป็น 4 สมัย ดังนี้ (สมภพ จันทรประภา, 2526: 28)

สมัยที่ 1 พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2031 
หญิง ผม ยังคงเกล้าผม การเกล้ามี 2 แบบ คือ เกล้าไว้ท้ายทอย และเกล้าสูงบน(หนูนหยิก) ศีรษะมีเครื่องประดับเรียกว่า เกี้ยว เป็นเครื่องรัดมวยผม

เครื่องประดับ สร้อยตัว สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู

เครื่องแต่งกาย นุ่งซิ่นจีบหน้า สวมเสื้อ แขนกระบอก คอกลม ผ่าหน้า เสื้อ ยาวเข้ารูป มีผ้าคลุมสะโพกไว้ด้านในของตัวเสื้อ แต่ปล่อยชายออกด้านนอก ต่อมาได้ต่อเข้ากับตัวเสื้อ เป็น ชายเสื้อลงมาอีกทีหนึ่ง

ชาย 
ผม มหาดเล็กและคนรับใช้ตัดผมสั้น ชายยังคงเกล้าผมกลางกระหม่อมเช่นเดียวกับ หญิง

เครื่องแต่งกาย นุ่งกางเกงยาวลงมาแค่หน้าแข้ง ปลายขาเรียวเล็กกว่าเดิม นุ่งผ้าหยักรั้ง แบบเขมรซ้อนทับกางเกง ชายผ้ายาวเสมอเข่า ใช้ผ้าคาดเอว สวมเสื้อคอแหลม แขนยาวจรดข้อมือ ผ่าอก สาบซ้ายทับสาบขวา มีผ้ากุ๊นตรงปลายแหลม คอ สาบหน้า และชายเสื้อ

เครื่องประดับ จากหลักฐานการขุดกรุใต้พระปรางค์วัดราชบูรณะพบว่า ส่วนบนของ มงกุฎที่ครอบมวยพระเศียรของกษัตริย์ พาหุรัดหรือทองกร เครื่องประดับศีรษะถักด้วยลวดทองคำ
การแต่งกายสมัยอยุธยา (สมัยที่ 1)
ภาพเขียนเลียนแบบจากพวงผกา คุโรวาท (2535: 55)
สมัยที่ 2 พ.ศ. 2034-2171 
หญิง
ผม
 ตัดผมสั้น หวีเสยขึ้น ไปเป็นผมปีก บ้างก็ยังไว้ผมยาวเกล้าบนศีรษะ เลิกเกล้าเมื่อ พ.ศ. 2112 เพราะต้องทำงานหนักไม่มีเวลาเกล้าผม

เครื่องแต่งกาย นุ่งกางเกงหรือโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลมผ่าอก ไม่นิยมสไบ ผู้หญิงชั้น สูงสวมเสื้อคอแหลม มีผ้าคล้องไหล่ 2 ข้าง

การห่มสไบมีหลายแบบ
  1. พันรอบตัวเหน็บทิ้งชาย
  2. ห่มแบบสไบเฉียง คือ พันรอบอก 1 รอบแล้วเฉวียงขึ้นบ่าปล่อยชายไว้ข้างหลังเพียงขาพับ
  3. แบบสะพัก สองบ่า ใช้ผ้าพันรอบตัวทับกันที่อกแล้วจึงสะพักไหล่ทั้งสองปล่อยชายไปข้าง หลัง ทั้ง 2 ข้าง
  4. แบบคล้องไหล่ เอาชายไว้ข้างหลังทั้งสองชาย
  5. แบบคล้องคอห้อยชายไว้ข้างหน้า
  6. แบบห่มคลุม
ชาย 
ผม ตัดผมสั้น แสกกลาง

เครื่องแต่งกาย นุ่งโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ มีผ้าคล้องไหล่
การแต่งกายสมัยอยุธยา (สมัยที่ 2)
ภาพเขียนเลียนแบบจากพวงผกา กุโรวาท (2535: 56)
สมัยที่ 3 พ.ศ. 2173 – พ.ศ. 2275 
หญิง 
ผม สตรีในสำนักไว้ผมแบบหญิงพม่าและล้านนาไทย คือ เกล้าไว้บนกระหม่อมแล้ว คล้องด้วยมาลัย ถัดลงมาปล่อยผมสยายยาว ส่วนหญิงชาวบ้านตัดผมสั้น ตอนบนแล้วถอนไรผม รอบ ๆ ผมตอนที่ถัดลงมาไว้ยาวประบ่า เรียกว่า “ผมปีก” บางคนโกนท้ายทอย คนรุ่นสาวไว้ผม ดอกกระทุ่มไม่โกนท้ายทอยปล่อยยาวเป็นรากไทร

การแต่งกาย หญิงในราชสำนักนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อ ผ่าอก คอแหลม (เดิมนิยม คอกลม) แขนกระบอกยาวจรดข้อมือหญิงชาวบ้านนุ่งผ้าจีบห่มสไบ มี 3 แบบ คือ รัดอก สไบเฉียง และห่ม ตะเบงมาน (ห่มไขว้กันแล้วรวบไปผูกไว้หลังคอ) เหมาะสำหรับเวลาทำงาน บุกป่า ออกรบ

เครื่องประดับ ปักปิ่นทองที่มวยผม สวมแหวนหลายวง สร้อยคอ สร้อยข้อมือ

การแต่งหน้า หญิงชาววัง ผัดหน้า ย้อมฟัน และเล็บเป็นสีดำ ไว้เล็บยาวทางปากแดง หญิงชาวบ้าน ชอบประแป้งลายพร้อย ไม่ไว้เล็บ ไม่ทาแก้ม ปาก

ชาย 
ผม ตัดสั้น ทรงมหาดไทย (คงไว้ตอนบนศีรษะรอบๆ ตัดสั้น และโกนท้ายทอย)

การแต่งกาย นุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอ แล้วตลบไปห้อยชายไว้ทางด้านหลัง สวมเสื้อคอกลม ผ่าอกแขนยาวจรดข้อมือ ในงานพิธีสวม เสื้อ ยาวถึงหัวเข่า ติดกระดุม ด้านหน้า 8 – 10 เม็ด แขนเสื้อ กว้าง และสั้น มาก ไม่ถึงศอก นิยมสวมหมวกแบบต่าง ๆ ขุนนางจะสวม ลอมพอกยอดแหลม ไปงานพิธีจะสวมรองเท้าแตะปลายแหลมแบบแขกมัวร์
การแต่งกายสมัยอยุธยา(สมัยที่ 3)
ภาพเขียนเลียนแบบจากพวงผกา คุโรวาท (2535: 58,60)
สมัยที่ 4 พ.ศ. 2275 ถึง พ.ศ. 2310
หลักฐานจากวัดใหญ่สุวรรณารามจังหวัดเพชรบุรีเป็นลักษณะเครื่องทรงในพระมหา กษัตริย์และคนชั้น สูง

หญิง การแต่งผม มี 3 แบบ คือ
  1. ทรงผมมวยกลางศีรษะ
  2. ทรงผมปีกมีจอนผม
  3. ทรงหนูนหยิกรักแครง (เกล้าพับสองแล้วเกี้ยว กระหวัดไว้ที่โคน รักแครง เกล้า ผมมวยกลมเฉียงไว้ด้านซ้ายหรือขวา)
  4. ทรงผมประบ่า มักจะรวมผมปีกและผมประป่าอยู่ในทรงเดียวกันและผมปีกทำ เป็นมวยด้วย
เครื่องประดับ นิยมสวมเทริด สวมกำไลข้อมือหลายอัน มีสร้อยข้อมือที่ใหญ่กว่าสมัยใด สร้อยตัวสวมเฉียงบ่ามีลวดลายดอกไม้ สิ่งที่ใหม่กว่าสมัยใดคือ สวมแหวนก้อยชนิดต่าง ๆ และ แหวนงูรัดต้นแขน

การแต่งหน้าแต่งตัว ทาขมิ้น ให้ตัวเหลืองดังทอง ผัดหน้าขาว ย้อมฟันดำ ย้อมนิ้ว และเล็บด้วยดอกกรรณิการ์ให้สีแดง

การแต่งกาย ของคนชั้น สูงนุ่งซิ่นยก จีบหน้า ห่มตาด สวมเสื้อริ้วทอง (ทำด้วยผ้าไหม สลับด้วยเส้นทองแดง) ห่มสไบ ชาวบ้านท่อนบนคาดผ้าแถบหรือห่มสไบ นุ่งโจงกระเบนหรือ ผ้าถุง

การห่มสไบมี 2 แบบ คือ
  1. ห่มคล้องคอตลบชายไปข้างหลังทั้ง 2 ข้าง กันบนเสื้อ ริ้วทอง และใช้เจียระบาด (ผ้าคาดพุง) คาดทับเสื้อปล่อยชายลงตรงด้านหน้า
  2. ห่มสไบเฉียงไม่ใส่เสื้อเมื่ออยู่กับบ้าน
ชาย ไว้ทรงมหาดไทย ทาน้ำมันหอม

การแต่งกาย สวมเสื้อคอกลมสวมศีรษะ แขนยาวเกือบจรดศอก มีผ้าห่มคล้องคอแล้ว ตลบชายทั้งสองไปข้างหลัง นุ่งโจงกระเบน ส่วนเจ้านายจะทรงสนับเพลาก่อน แล้วทรงภูษา จีบโจง มีไหมถักรัดพระองค์ แล้วจึงทรงฉลองพระองค์ คาดผ้าทิพย์ทับฉลองพระองค์อีกที

การแต่งกายสมัยอยุธยา สำหรับผู้ที่สนใจควรศึกษาลายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ อยุธยาอาภรณ์ ของสมภพ จันทรประภา 2526 และการแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ ปัจจุบัน 1 สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ 2543 จะได้ลายละเอียดเพิ่มเติม
การแต่งกายสมัยอยุธยา (สมัยที่ 4)
ภาพเขียนเลียนแบบจากพวงผกา คุโรวาท (2535: 62)

การแต่งกายของไทยเราจะแสดงลักษณะเด่นชัดตอนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีลงมา เครื่องแต่งกายของคนย่อมเป็นไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ ในปัจจุบันก็ยังสรุปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ว่าคนไทยเคยอยู่ตอนใต้ของประเทศจีนหรืออยู่ ณ ที่นี้มานานแล้ว มีความสำคัญในการที่จะ สันนิษฐานว่า การแต่งตัวเหมือนเผ่าไทยที่ยังอยู่ในเขตแดนจีน มีอากาศหนาวจึงสวมเสื้อหลายชั้น ถ้าคนไทยอยู่ใน ณ ที่นั้นนานแล้ว ซึ่งจะมีอากาศร้อน เสื้อ ผ้าก็จะมีลักษณะชนิดพันหลวม ๆ มากว่าจะเป็นแบบรัดตรึงแนบตัว

นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมาเห็นได้ว่าเครื่องแต่งกายของคนอินเดียได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของเครื่องแต่งกายไทย ผ้าจีบและสไบก็คือผ้าส่าหรีดัดแปลงเป็นสองท่อน ส่วนผ้านุ่งก็คือผ้านุ่ง ของผู้ชายอินเดีย คนไทยมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อรับวัฒนธรรมของใคร มาแล้วรู้จักดัดแปลงให้เข้ากับสภาพวิถีชีวิตของตนเอง จนกลายเป็นไทยในที่สุด นุ่งโจงห่มจีบ ของไทยก็ได้มาจากห่มส่าหรีของแขกก็จริงแต่ไม่ใช่แขก เรามีการใช้คำว่าเครื่องนุ่งห่มมาก่อน เครื่องแต่งกาย เพราะใช้นุ่งและห่มจริง คือใช้ปกคลุมท่อนล่างและบนแยกกันเป็นคนละส่วน

เครื่องนุ่งห่มของไทยตั้งแต่อดีตเป็นการใช้ประโยชน์ทั้งในด้านความเหมาะสม การประหยัด และความคล่องตัวในการดัดแปลง เช่น ในสมัยอยุธยาการแต่งกายของสตรีไทยตามปกติจะ แสดงออกซึ่งความนุ่มนวลและความเป็นผู้หญิง แต่พอถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อไทยจะทำ สงครามกับพม่าเป็นเวลาที่สตรีไทยต้องออกต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาย การแต่งกายของสตรีก็ เปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับบทบาทใหม่ คือ แต่งกายให้รัดกุม ไม่รุ่มร่าม สะดวกในการเคลื่อนไหว เป็นการห่มผ้าแบบ “ตะเบงมาน” ผมก็ตัดสั้น เพื่อสะดวกในการรบ หนีภัย และการปลอมแปลง เป็นชาย 

รูปภาพการแต่งกายสมัยอยุธยา


             อยุธยา

                                  อยุธยา



การแต่งกายของไทยในสมัยกรุงธนบุรี

        สมัยกรุงธนบุรี ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง พระเจ้ากรุงธนได้มี ความสัมพันธ์กับ ต่างประเทศมากขึ้น เพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเปิดการค้าขายติดต่อกับประเทศจีน ส่วนชาวยุโรป ชาติต่างๆ ที่เคยเข้ามา ติดต่อค้าขาย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นั้นได้พากันอพยพ ออกไปค้าขายอยู่ในประเทศอื่นๆ เสียหมดเพราะ บ้านเมืองตกอยู่ ในสภาพยุคเข็ญเป็นจลาจลเสียช้านาน และประกอบกับ ทางยุโรป กำลังยุ่งยาก กับการทำศึกสงคราม ในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 1 จึงทำให้การติดต่อ ไมตรีกับชาวยุโรปชาติต่างๆ ต้องยุติลง ชั่วระยะหนึ่ง
       สำหรับประเทศจีนนั้น ติดต่อค้าขายด้วยกันจนตลอดราชการ และพระองค์ ทรงสนับสนุน กับประเทศนี้มาก จึงมีการนำเอาวัฒนธรรมการแต่งกายบ้าง เครื่องแพรพรรณ เช่น ผ้าแพรจีน นิยมนำมานุ่งมากขึ้น หญิง ( เนื่องจาก การขาดแคลนผ้าสมัยนั้น เพราะเป็นการ สร้างกรุงใหม่ หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก) จึงได้กลับมานุ่งผ้าถุง อีกโดย ขมวดชายพกไว้ตามสบาย ห่มสไบรัดหน้าอกอย่างธรรมดา นิยมใช้ผ้าแพร อาจจะได้มาจาก ประเทศจีน ชายเริ่มมี การนุ่งกางเกง เพราะสมัยนี้ได้มีชาวจีน มารับราชการทหารด้วย เป็นอันมากและ เพื่อให้สะดวก ในการออกรบ ส่วนเสื้อนั้น น่าจะเป็นแบบคอกลม แขนขึ้นท่อน ผ่าอกแล้วมีกระดุม ผ้าขดไว้ มีกระเป๋าใหญ่ข้างละใบ สำหรับใส่ของ พบจาก ข้อความ ที่ว่า ”ทัดพวงมาลา” ของหนังสือกฤษณาสอนน้อง แสดงว่าสมัยนี้ นิยมไว้ผม ทรงแบบใหม่ เรียก ”ผมทัด” คือ ผมที่เป็นพู่ ตรงชายผมตกที่ริมหูทั้งสองข้าง สำหรับ ห้อยดอกไม้ จากข้อความที่ว่า ”เสยผม” แสดงว่า ผมทรงนี้ มีการไว้ผม ข้างหน้าสั้น แต่ก็ยาวพอจะใช้มือเสย ไปข้างหลังได้ ยาวกว่าปีกแน่ๆ และไม่มีการแสกผม

รูปภาพการแต่งกายสมัยกรุงธนบุรี
                 กรุงธนบุรี   กรุงธนบุรี 


 
สมัยรัตนโกสินทร์


       
   วัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยนี้ ทั้งทรงผม เสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ยังคงลักษณะบางอย่างที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา แต่มีแตกต่างกันไปตามชุมชนทั้งในเมืองและท้องถิ่นต่าง ๆ
           การแต่งกายตามประเพณีนิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ของราษฎรจะแตกต่างไปจากประเพณีนิยมของราษฎรในเขตราชธานีภาคกลาง แม้แต่สังคมของคนกรุงเทพฯ ยุคนั้นการแต่งกายของราษฎรทั่วไปยังต่างกันไปตามชนชาติซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในขณะนั้น กลุ่มชนชาติต่าง ๆ อันมีพวกมอญ จาม ฝรั่ง ส่วนใหญ่รับราชการประจำกองทัพ คนจีนรับราชการในด้านกิจการค้าของรัฐในสังกัดกรมท่า คือการค้าสำเภาและการเก็บภาษีอากรภายใน
การแต่งกายโดยทั่วไปของคนในสมัยนี้
ชาย
           ไว้ผมตัดสั้นที่เรียกว่า “ผมมหาดไทย” นุ่งผ้าโจงหรือ จีบ ตามธรรมดา ไม่นิยมสวมเสื้อ ยกเว้นในเทศกาลเข้าร่วมในงานพระราชพิธีต่างๆ

หญิง
           ห่มสไบ นุ่งผ้าโจงหรือผ้าจีบ เครื่องประดับชายหญิงและเด็กรวมทั้งเครื่องแต่งกายนั้น มีมากน้อยแตกต่างกันไปตามฐานะของกลุ่มคนในสังคมซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มคนชั้นสูงและราษฎรสามัญ ลักษณะการแต่งกายตามแบบจารีตนิยมนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่ออิทธิพลของชาติตะวันตกขยายตัวเข้ามาในดินแดนแถบนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการแต่งกายนี้ได้เกิดในกลุ่มชนชั้นนำก่อน
ยุครัตนโกสินทร์สมัยใหม่ (รัชกาลที่ ๕ - ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐)
           นโยบายเปิดประเทศอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น โปรดให้ข้าราชการและเจ้านายสวมเสื้อเมื่อเข้าเฝ้า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ การเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยของผู้ชายมาไว้ยาวแล้วตัดแบบชาวตะวันตกในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต่อมาการติดต่อกับต่างประเทศมีมากขึ้น ทั้งด้านความสัมพันธ์ทางการทูต การขยายตัวทางการค้าของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่สั่งสินค้าจากตะวันตกเข้ามาขาย เพื่อรับกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวตะวันตก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวตะวันตกเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการแต่งกายเดิม เชื่อว่าเป็นเพราะความนิยมใน "ความเจริญ” ของตะวันตก จึงรับเอาความคิดทางด้านความสวยงามตามทัศนคติของชาวตะวันตกเข้ามาด้วย
           ในระยะต้นเป็นการดัดแปลงแบบตะวันตกผสมกับแบบการแต่งกายเดิม ราชสำนักเป็นแกนนำของความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราชสำนักฝ่ายใน แต่การ “แต่งอย่างฝรั่ง” ก็เป็นที่ยอมรับเพียงเวลา “ออกการออกงาน” หรือเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เป็นพิเศษเท่านั้น ปกติยังคงแต่งกายตามประเพณีเดิม
           นักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เป็นแกนนำในการเผยแพร่แบบการแต่งกายของชาวตะวันตก ตลอดจนวิถีทางดำเนินชีวิตบางประการ เช่น การสังสรรค์ที่คลับสโมสร การจัดงานเลี้ยงที่เรียกว่า “ปาร์ตี้” (Party) ประกอบกับการสื่อสารกับประเทศตะวันตกและการสื่อสารภายในประเทศ การแต่งกายแบบ “สากลนิยม” จึงขยายตัวไปสู่กลุ่มชนชั้นกลาง
สมัยรัฐนิยมและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
           ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยมีลักษณะเด่นด้านการนิยมแบบตะวันตกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงแรก (พ.ศ. ๒๔๘๑ -๒๔๘๗) มีนโยบายสำคัญในการสร้างชาติด้วยลัทธิชาตินิยม โดยได้มีการวางเป้าหมายปลูกฝังให้ประชาชนชาวไทยเป็นผู้มี “วัธนธัมดี มีศิลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี"
           ด้านการแต่งกายรัฐได้วางระเบียบปฏิบัติ โดยเฉพาะ รัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ ประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๔ มีใจความสำคัญคือ
           เน้นการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเมื่อปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณชน และแยกแยะประเภทเครื่องแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย โดยกำหนดการแต่งกายและทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคนไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบนเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแทน เลิกการใช้ผ้าผืนเดียวคาดอกหรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน
           ชายนั้นขอให้เลิกนุ่งกางเกงแพรสีต่าง ๆ หรือนุ่งผ้าม่วง เปลี่ยนมาเป็นนุ่งกางเกงขายาวแทน กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ วางระเบียบเครื่องแต่งกายของข้าราชการในเวลาทำงานปกติ และทั่วไปเพื่อให้เป็นแบบอย่างอันดี ในเวลาทำงานปกติข้าราชการหญิงต้องใส่เสื้อขาวนุ่งกระโปรงสีสุภาพ หรือผ้าถุง และสวมรองเท้าหุ้มส้น ถุงเท้าสั้นหรือยาวก็ได้ และต้องสวมหมวก สีของเครื่องแต่งกายนั้นถ้าเป็นงานกลางแจ้งควรใช้สีเทา ถ้าเป็นงานในร่มหรือเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรใช้สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น
ระยะ พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๒๕
           ในช่วงเวลานี้ได้มีวิวัฒนาการการแต่งกายแบบไทยที่สำคัญคือ การแต่งกายแบบไทยตามแนวพระราชนิยม คือ ชุดไทยพระราชนิยมสำหรับหญิง และชุดไทยพระราชทานสำหรับชาย ทั้งสองชุดนี้ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นชุดประจำชาติของไทย
การแต่งกายชุดไทยพระราชนิยม
           สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระที่โดยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป และ สหรัฐอเมริกา โดยทีทรงมีพระราชดำริว่าไทยเรายังไม่มีชุดแต่งกายปะจำชาติที่เป็นแบบแผนเหมือนชาติอื่น ๆ และการเสด็จประพาสครั้งนี้ก็เป็นราชการสำคัญ จึงโปรดฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้หารือกับผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ ค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของไทยสมัยต่าง ๆ และโปรดให้คุณอุไร ลืออำรุง ช่างตัดฉลองพระองค์เลือกแบบต่าง ๆ มาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสม จัดเป็นชุดไทยพระราชนิยมหลายชุด และกำหนดให้เลือกใช้ในวาระต่าง ๆ กัน คือ
ยุค ๒๕๒๕ - ๒๕๓๗ - ๒๕๔๔

           หญิงไทยในยุคนี้จะแต่งกายตามสมัยนิยมและกล้าที่จะแต่งชุดที่ขัดกับวัฒนธรรมไทย เช่น นุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่าจนเห็นขาอ่อน (mini skirt ) ใส่เสื้อเปิดพุง หรือรัดรูป ฯลฯ บางแฟชั่นก็เป็นกระโปรงบานยาวกรอมเท้า ฯลฯ ตามแต่จะได้รับสื่อแฟชั่นจากทุกมุมโลก ซึ่งเข้าสู่สมัยเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน แฟชั่นการแต่งกายสมัยใหม่ระบาดออกไปสู่วัยรุ่นไทยทุกจังหวัดอย่างรวดเร็วผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะการแต่งกายเลียนแบบดารานักร้อง นักแสดงวัยรุ่น ค่านิยมของการแต่งกายเปลี่ยนแปลงไปตามอาชีพ ตามวัยและตามสภาวะแวดล้อม “แฟชั่นกางเกง” นับเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในเกือบทุกวัยทุกอาชีพ การนุ่งกางเกงนับเป็นเรื่องปกติสำหรับหญิงไทย กางเกงผ้ายีนส์เข้ามามีบทบาทมากในกลุ่มวัยรุ่น           อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีรูปแบบหรือไม่อย่างไร คงหมุนไปตามกระแสแฟชั่นของโลก


การแต่งกายในสังคมปััจุบัน

         ค่านิยมการแต่งกายในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากอดีตที่ผ่านมา อาจเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในรากฐานการดำเนินชีวิตของผู้ออกแบบและสสวใส่ ซึ่งอาจไม่เข้าใจว่าเสื้อผ้าอาภรณ์แบบไหนเหมาะสมกับกาลเทศะใด จนกระทั่งเกิดเป็นประเด็นปัญหา เช่น การที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเยาวชน หรือวัยรุ่นหญิงมีความกล้าในการแต่งกายกันมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องแบบชุดนักศึกษา ทั้งเสื้อและกระโปรงต้องฟิตจนปริหรือรัดรูปร่างจนไม่ส่งผลดีกับภาวะสุขภาพของผู้สวมใส่ มองดูแล้วน่าจะต้องทนอึดอัดกับการสวมใส่อยู่ไม่น้อย ปัจจุบันนักศึกษาจำนวนไม่น้อยมีรสนิยมในการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมและถือเป็นแฟชั่น โดยไม่คำนึงถึงกฎระเบียบและรูปแบบที่ถูกต้อง รวมถึงประพฤติตามกันโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับบุคลิกภาพของตนเอง จึงเกิดภาพลักษณ์การแต่งกายของนักศึกษาที่ไม่สวยงาม ไม่เหมาะสม ผู้พบเห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไม่รู้จบ
        สถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันมีหน้าที่โดยตรงในการปลูกฝังความดีงามให้อยู่ในจิตสำนึกของเด็กและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการลดการเบี่ยงเบนทางนิยมการแต่งกายของเยาวชนในสังคมไทย ปัจจุบันนี้มีหลายสถาบันที่ส่งเสริมในเรื่องค่านิยมที่ดีในการแต่งกาย และมีนโยบายที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีการส่งเสริมให้นักเรียนใผ้ไทย หรือแต่งกายในแบบชุดไทยใน 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งหากผ้าไทยได้ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องแบบสำหรับนักเรียน สร้างความชื่นชมแก่ผู้พบเห็นโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว เยาวชนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส มีความรู้สึกว่าได้แต่งกายสวยงามเป็นพิเศษกว่าทุกวัน นับเป็นความคิดที่ดีที่มีสถาบันให้การรณรงค์และส่งเสริมสร้างค่านิยมที่ดี สร้างความภูมิใจให้กับเยาวชนไทยอย่างจริงจัง
      จากที่กล่าวมา ทำให้มองเห็นว่า กฎ ระเบียบ ข้อบังคับอาจไม่ใช่วิธีการที่ก่อให้เกิดความเต็มใจในการปฏิบัติ อีกทั้งอาจไม่เกิดลดีในการใช้กับวัยรุ่นหรือเยาชน แต่การปลูกฝัง การจูงใจ สร้างค่านิยมที่ดีงามตั้งแต่เยาว์วัย น่าจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสริมพฤติกรรมและค่านิยมที่ดีงามให้กับเยาวชน แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปแค่ไหน แต่ความงามในเรื่องพฤติกรรมและการแต่งกายตามครรลองของวัฒนธรรมก็ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนคนไทยได้ดีที่สุด

วัฒนธรรมการแต่งกายวัยรุ่นไทย
สังคมไทยในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ มาสู่รูปแบบสังคมอุตสาหกรรมตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆที่ได้หลั่งไหลเข้ามา ทำให้เกิดการแพร่หลายทางวัฒนธรรมเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น โดยวัฒนธรรมที่สังคมไทยรับเข้ามาไม่เพียงแต่ทางตะวันตกเท่านั้น ทางตะวันออกเองก็เข้ามีบทบาทชัดเจนด้วยเช่นกัน อาทิเช่นเกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น  วัฒนธรรมทั้งสองแห่งนี้ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆด้าน                                     การเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดทั้งข้อดีและข้อเสียต่อสังคม  ตัวอย่างด้านหนึ่งของสังคมที่ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ๆหลายคนหนักใจและพยายามแก้ไขให้อยู่ในประเพณีอันดีงามของไทยเหมือนเดิม นั่นคือ การแต่งกายของวัยรุ่นไทยปัจจุบัน  ที่มักแต่งกายยั่วยวน เซ็กซี่ จนก่อให้เกิดคดีอาชญากรรม  การข่มขืนกระทำชำเราหลายต่อหลายคดีมาแล้ว
                การแต่งกายของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลทั้งจากทางตะวันตกและตะวันออก      แต่ภายหลังมานี้ วัฒนธรรมเกาหลีและญี่ปุ่นจะได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านการแต่งกายเท่านั้น การเต้น การร้องเพลง ศิลปินดาราของเกาหลีและญี่ปุ่น ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์  อินเทอร์เน็ต จึงทำให้การติดตามข่าวสารในเรื่องเหล่านี้ทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งแนวทางการติดตามข่าวสารดังกล่าวนี้ ทำให้วัยรุ่นซึมซับวัฒนธรรมเหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมผสมผสานจนบ่อยครั้งที่แยกไม่ออกว่าเป็นวัฒนธรรมของชาติไหน
                สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ถือว่าเป็นตัวนำหลักของการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการแต่งกายที่ชัดเจนมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ  อินเทอร์เน็ต ต่างก็พยายามหาข้อมูลที่ผู้คนให้ความสนใจมาเผยแพร่ ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมเกาหลีที่เข้ามามีบทบาทมากในหมู่วัยรุ่น เนื่องมาจากละครของประเทศเกาหลีที่นำมาเผยแพร่ผ่านทางรายการโทรทัศน์ของไทย ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งทางด้านการแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับสถานที่ถ่ายทำละครนั้นมีความสวยงาม ชวนให้ไปท่องเที่ยวในสถานที่นั้นๆ ยิ่งทำให้กระแสวัฒนธรรมเกาหลีทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาเพลงของนักร้อง และดาราเกาหลี ที่มีการแต่งกายที่แหวกแนว มีการ เจาะรูตามร่างกาย  กระโปรงสั้น เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดลายตา แม้แต่กระทั่งทรงผมก็มีความแปลกใหม่และแปลกตาเป็นอย่างมาก  อินเทอร์เน็ตก็เป็นสื่ออีกแขนงหนึ่งที่มีข้อมูลข่าวสารด้านแฟชั่นต่างๆของเกาหลี ที่จะมีการรายงานข้อมูลต่างๆอยู่เสมอๆ  ทำให้วัยรุ่นไทยเกิดการลอกเลียนแบบ  อยากที่จะแต่งตัวตามดาราหรือนักแสดงเกาหลีคนนั้น คนนี้บ้าง   จึงมีการแต่งกายที่เปิดเผยให้เห็นส่วนของเนื้อหนังมากขึ้น ทั้งรัดรูป เกาะอก  สายเดี่ยว  กางเกงขาสั้น เป็นต้น  นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากวัฒนธรรมการแต่งกายเพียงแค่ชาติเดียวเท่านั้น แท้จริงแล้วพบว่าวัยรุ่นไทยได้ซึมซับวัฒนธรรมการแต่งกายมาจากหลากหลายประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีแฟชั่นการแต่งกายใหม่ๆ ออกมาเสมอ
                การปรับปรุงแก้ไขด้านการแต่งกายของวัยรุ่นนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากพอสมควร เพราะมักจะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งร้านค้าขายเสื้อผ้าแฟชั่นจะมีเสื้อผ้าใหม่ๆที่น่าสนใจออกมาขายให้กับวัยรุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งตลาดนัดธรรมดาก็จะพบเห็นเป็นประจำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นแต่งกายกันตามแฟชั่นอยู่ตลอด  เพราะฉะนั้นควรที่จะปลูกฝังค่านิยมการแต่งกายเสียใหม่ให้กับวัยรุ่น
ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงดูแลเรื่องสื่อและเทคโนโลยีต่างๆด้วยเช่น การรณรงค์การแต่งกายมิดชิด สื่อสาธารณะ(ดารานักแสดง นักร้อง )ควรเป็นกลุ่มตัวอย่างในการแต่งกาย และขณะเดียวกันก็ควรแสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยด้วย ในส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องคอยดูแลลูกหลานของตนเอง ปลูกฝังให้รักนวลสงวนตัว ไม่ให้แต่งกายมิดชิดไม่เปิดเนื้อหนังมากเกินแต่ก็ไม่ควรให้เด็กรู้สึกว่าก้าวก่ายมากเกินไป และต้องเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆด้วย  ที่สำคัญที่สุดคือ เยาวชนหรือวัยรุ่นเองก็ต้องรู้จักแต่งกายให้รัดกุม มิดชิด ไม่เปิดให้เห็นเนินอก หรือขาสั้นจนเกินงาม วัยรุ่นควรที่จะป้องกันอันตรายด้วยการสร้างจิตสำนึกแก่ตนเองเช่นกัน อย่ามัวแต่ให้คนอื่นมาคอยดูแลเพียงฝ่ายเดียว  นั่นจึงจะทำให้ปัญหาด้านการแต่งกายของวัยรุ่นที่ผิดไปจากวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยแบบเดิมนั้นกลับมาเหมาะสมตามเดิม
                แม้ว่าการแต่งกายจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากวัยรุ่นไทยยังคงมีการแต่งกายที่ล่อแหลม ยั่วยวนกิเลสของผู้ชาย แต่งกายไม่เหมาะสมกับคติคำสอนของไทยอย่างเช่นทุกวันนี้ ปัญหาอาชญากรรมก็คงจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยอีกนับไม่ถ้วน และที่สำคัญคือ วัฒนธรรมการแต่งกายอันดีงามของไทยคงสูญหายไปอย่างแน่นอนในภายภาคหน้า อนาคตลูกหลานจะไม่เข้าใจว่า สิ่งไหนเป็นวัฒนธรรมของไทย สิ่งไหนเป็นวัฒนธรรมของต่างชาติ  จะรอให้ใครคนใดคนหนึ่งเริ่มต้นแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนก่อนจึงจะทำตามไม่ได้ คนไทยทุกคนต้องสำนึกได้ถึงความสำคัญและเป็นคนเริ่ม ทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง ภาครัฐ  ภาคเอกชน และสังคมต้องคอยช่วยกันดูแลและส่งเสริมการแต่งกายของเด็กไทยให้อยู่ในกรอบในจารีตประเพณีของไทย จึงจะทำให้สังคมไทยสามารถคงความเป็นไทยให้ลูกหลานได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันดีงามของชาติต่อไป

รูปภาพการแต่งกายในสังคมปัจจุบัน

   


แฟชั่นชุดทำงานผู้ชาย 4 สไตล์ ปรับลุครับปีใหม่ รูปที่ 3
ชุดทำงาน

อย่างไรก็ตามการแต่งกายเป็นมารยาททั่ว ๆ ไปซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกันตามแต่โอกาสที่เหมาะสม เช่น แต่งกายไปทำงาน,ไปวัด ทำบุญ,ไปเล่นกีฬา และงานพิธีต่าง ๆ หรือการแต่งกายที่อยู่ในเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ บริษัทห้างร้านที่กำหนดให้พนักงานแต่งกาย เป็นต้น หากบุคคลใดสามารถปฏิบัติได้ตามกฎระเบียบที่กำหนดถือว่าเป็นผู้มีมารยาทในการแต่งกายที่ดี

เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาผู้ที่พบเห็น ถ้าแต่งกายเหมาะสมก็จะก่อให้เกิดความประทับใจในทางที่ดี หากแต่งตัวไม่เหมาะสมผู้อื่นก็จะมองเราในลักษณะที่ไม่สู้ดีนัก แม้จะเป็นความจริงว่าคนเลวอาจซ่อนร่างอยู่ในเครื่องแต่งกายที่เรียบร้อยสวยงามก็ได้ แต่ถ้าคนดีมีความรู้ความสามารถนั้นหากแต่งกายไม่เหมาะสม คนที่พบเห็นครั้งแรกอาจไม่เกิดความนิยม เลื่อมใส และเป็นการปิดโอกาสของตนเองที่จะได้แสดงความดีและความสามารถ ดั้งนั้น การแต่งกายจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก หลักสำคัญเกี่ยวกับการแต่งกาย คือ แต่งกายสะอาด แต่งกายสุภาพเรียบร้อย และแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ

การแต่งกายสะอาด ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสะอาดในที่นี้ไม่เกี่ยวกับ ความ
เก่าความใหม่ เพราะเครื่องแต่งกายที่ใหม่อาจสกปรกก็ได้ และเครื่องแต่งกายที่เก่ามีรอยปะชุนก็อาจดูสะอาดได้ หรือเครื่องแต่งกายราคาแพงก็อาจดูสกปรกได้ แต่เครื่องแต่งกายราคาถูกก็ดูสะอาดได้ ดังนั้น คนฐานะที่ไม่ดีนักก็สามารถแต่งตัวสะอาดได้เท่ากับคนฐานะดี โดยเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่นั้นก็ควรซักรีดให้เรียบร้อย รองเท้าก็ขัดให้ดูพองาม กระเป๋าก็เช็ดถูให้ดูสะอาดเหล่านี้ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่จะทำหรือไม่เท่านั้น อนึ่งการอาบน้ำชำระกายให้สะอาด และการดูแลเล็บมือ เล็บเท้ามิให้สกปรก ก็เป็นสิ่งที่ควรดูแลรักษาทำความสะอาดด้วย 

การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย การแต่งกายควรแต่งให้เรียบร้อยพอควร เพราะ คนแต่ละคนหรือสังคมแต่ละแห่ง อาจมีเกณฑ์วัดความสุภาพเรียบร้อยต่างกันออกไป แต่ถ้าใช้สามัญสำนึกสักหน่อย ก็จะพอรู้ว่าในสังคมไทยแต่งกายอย่างไรจึงจะถือว่าแต่งกายเรียบร้อย และอย่างไรถือว่าไม่เรียบร้อย เช่น การใส่เสื้อกล้ามไปร้านอาหาร การแต่งกายโดยเปิดเผยให้เห็นส่วนของร่างกายที่ควรสงวน หรือใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนน่าเกลียด หรือสวมกระโปรง กางเกงที่สั้นมาก ๆ เพื่อต้องการแสดงและเน้นสรีระของร่างกาย โดยเฉพาะการแต่งกายดังกล่าวข้างต้นไปในสถานที่ควรแก่การสักการะบูชา เช่น ศาสนสถาน วัด โบสถ์ หรือสถานที่ราชการ สถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย

การแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ การแต่งกายนอกจากจะสะอาดและมีความสุภาพเรียบร้อยแล้ว ควรให้เหมาะสมกับสมัยนิยมและให้เหมาะกับสถานที่ที่จะไปด้วย การแต่งกายที่ผิดสมัยนิยมนั้นหากสะอาดและสุภาพเรียบร้อยก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายมาก แต่คนอาจมองว่าเชยเท่านั้น ดังนั้นการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรระวังแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ ดังนี้ 

ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับงานที่จะไป เช่น ไม่แต่งชุดดำไปงานแต่งงาน ไม่แต่งสีฉูดฉาดไปงานศพ เป็นต้น แต่งกายให้เกียรติเจ้าภาพของงานตามสมควร เช่น ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงจะแต่งลำลองอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าไปงานแต่งงานที่จัดหรูหราเป็นพิธีรีตรอง จะสวมใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ไปคงไม่เหมาะสม เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติเจ้าภาพ แต่ถ้าเรามีเงินน้อย ไม่มีชุดสากลหรือชุดพระราชทาน จะใส่กางเกงและเสื้อธรรมดาไปก็ได้ ข้อสำคัญคือต้องสะอาดและสุภาพเรียบร้อย 

การแต่งกายอย่างหนึ่งอาจเหมาะสมกับที่หนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมกับอีกที่หนึ่ง เช่น ใส่ชุดว่ายน้ำอยู่ที่ชายหาดหรือริมสระว่ายน้ำ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเดินไปในที่ห่างจากชาดหาดและสระมาก ๆ ก็ดูไม่เหมาะสม หรือการสวมรองเท้าแตะที่บ้าน หรือเดินเล่นนอกบ้านก็ไม่เป็นไร แต่จะใส่ไปโรงเรียนหรือไปทำงานบางอย่างก็ถือว่าเป็นการไม่เหมาะสม เป็นต้น ความสะอาดและความสุภาพเรียบร้อยสำคัญที่สุด เพราะคนเรานั้นต่างจิตต่างใจกัน คนหนึ่งว่าเหมาะอีกคนว่าไม่เหมาะ ดังนั้นถ้ามีปัญหาก็ให้ยึดหลักความสะอาดและสุภาพไว้ก่อน ซึ่งใช้ได้ทุกกรณี อันที่จริงการแต่งกายสะอาดและสุภาพแล้วก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่นจนเกินไป 

ดังนั้น มารยาทการแต่งกายที่พึงประสงค์ จึงไม่ได้หมายถึง การแต่งกายตามแฟชั่น แต่เป็นการแต่งกายที่จะต้องคำนึงถึงความสุภาพเรียบร้อย สะอาด ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เมื่อมีผู้พบเห็นจะรู้สึกทันทีว่าผู้ที่แต่งกายดีถูกต้องตามกาลเทศะ คือ คนที่ควรได้รับการชมเชย จากสังคมและผู้ปฏิสัมพันธ์ด้วย ในมุมกลับกันหากแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย ก็จะเกิดคำตำหนิ ติเตียน จากผู้ที่พบเห็น ทำให้เสื่อมเสียทั้งตนเอง สถานบันครอบครัว และสถานศึกษา ดังตัวอย่างการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมดั่งที่เป็นข่าว จึงขอฝากข้อควรคำนึงถึงการแสดงมารยาทที่พึงประสงค์ต่อสถานที่อันควรเคารพสักการะ ได้แก่ แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ถอดหมวก ถอดรองเท้า ลดร่มลง ไม่แสดงอาการเหยียดหยามหรือพูดคำหยาบ ไม่ส่งเสียงเอะอะอื้ออึง และทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่กล่าวคำทำนองว่าไม่เชื่อหรือไม่ศรัทธาต่อสถานศักดิ์สิทธิ์นั้น ทำใจเป็นกลาง ไม่คิดแต่จะจับผิด เนื่องจากถือว่าเป็นสถานที่ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาที่ตนนับถือ ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เขาปฏิบัติกัน ยกเว้นธรรมเนียมนั้นจะขัดกับศรัทธาของตนหรือขัดกับหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ คำนึงอยู่เสมอว่าสถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาใด ศาสนิกชนในศาสนานั้นก็เคารพสักการะ อย่าแสดงอะไรที่เป็นการทำลายน้ำใจกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น